เชื้อราแมว การติดเชื้อราในแมว

จากกระแสเพจ หมอแล็บแพนด้า ได้แชร์ภาพอาการของเจ้าของที่มีอาการคล้ายกับการเป็นเชื้อราที่ติดจากน้องแมว เรามาตรวจเช็คน้องแมวเราดีกว่าว่ามีอาการเหล่านี้หรือเปล่า

  • มีวงขนร่วงเป็นวงกลม สีแดง ขอบหนาตัว มีสะเก็ด
  • ผิวหนังมีสะเก็ดรังแค
  • เส้นขนแห้ง หยาบ เปราะแตกง่าย
  • เกา หรือ เลีย​ ที่บริเวณผิวหนังจนผิวหนังอักเสบ
  • เล็บเปราะ แตกง่าย เป็นสะเก็ด ผิดรูป

หากมีอาการดังกล่าว แสดงว่าเจ้านายเหมียวของท่านมีโอกาสจะเป็นโรคเชื้อรา หรือที่เรียกกันว่า ” Ringworm “ นั่นเอง
เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่ม Dermatophyte ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดรอยโรคผิวหนังในแมวทุกตัวที่สัมผัสเชื้อ แมวกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ลูกแมวอายุน้อย แมวแก่อายุมาก แมวป่วย แมวที่เป็นโรคที่ส่งผลต่อความแข็งแรงของผิวหนัง แมวที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง แมวเครียด

เชื้อราในแมวเป็นโรคที่ติดต่อกันโดยผ่านการสัมผัสทั้งทางตรงและทางอ้อม และสามารถติดต่อกันได้ทั้งในหมู่สัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข, แมว เป็นต้น) แถมยังติดต่อจากสัตว์สู่คนได้อีกด้วย

รอยโรคการติดเชื้อราในคน มีความคล้ายคลึงกับในแมว คือ ช่วงแรกจะพบลักษณะของตุ่ม/ผื่นแดง จากนั้นจะค่อยๆลามออกไปจนมีลักษณะเป็นวงสีแดง ขอบนูนเล็กน้อย มีขอบเขตชัดเจน อาจพบตุ่มน้ำหรือขุยสีขาวอยู่รอบๆ มักมีอาการคันเล็กน้อย

หากสงสัยว่าเจ้านายเหมียวของท่านมีโอกาสจะเป็นโรคเชื้อรา ควรพามาพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกวิธี หากปล่อยทิ้งไว้นานจนการติดเชื้อลุกลาม จะทำให้รักษายาก ใช้เวลานาน และยังอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปยังคนในครอบครัวและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆอีกด้วย

เครดิต.
ขอบคุณความรู้ดีๆจาก…หมอสพ.ญ.นันทรัตน์ เต็มโชคทวีทรัพย์
โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน
หมอแล็บแพนด้า

 

เชื้อราแมว

คือ เชื้อราที่ทำให้แมวเป็นโรคผิวหนัง แมวที่ติดเชื้อจะมีขนหลุดออกมาเป็นหย่อมๆ ผิวหนังแดง แห้ง ลอกเป็นขุยๆ และมีการตกสะเก็ดร่วมด้วย ซึ่งผู้ที่ชอบสัมผัสกับแมวโดยไม่ทำความสะอาดหลังจากสัมผัสมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ นอกจากแมวแล้ว สัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ เช่น สุนัข แฮมสเตอร์ ก็สามารถพบการติดเชื้อรานี้ได้ เช่นกัน

อาการของผู้ติดเชื้อราแมว

1.ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ทั้งวงเล็กและวงใหญ่
2.มีขุยขึ้นตามบริเวณรอบๆผื่นแดง
3.มีอาการคันตามผื่นแดง
4.อาจเกิดผื่นแดงเพิ่มขึ้นเมื่อเกาที่บริเวณผื่นแดง และไปสัมผัสจุดอื่นๆบนร่างกาย
5.หากมีการติดเชื้อที่หนังศีรษะอาจพบเส้นผมในบริเวณที่ติดเชื้อร่วงเป็นหย่อม

วิธีรักษาเชื้อราแมวในผู้ป่วย

สำหรับที่ผิวหนัง
ให้ทายาฆ่าเชื้อราที่ได้รับจากคุณหมออย่างต่อเนื่องโดยอาการต่างๆจะดีขึ้นภายใน 3 สัปดาห์
หากพบผื่นจำนวนมาก แพทย์อาจให้รับประทานยาต้านเชื้อราควบคู่กับการทายาฆ่าเชื้อราไปด้วย

สำหรับการติดเชื้อบนหนังศีรษะ ควรรับประทานยาต้านเชื้อราตามที่คุณหมอสั่งอย่างต่อเนื่องการใช้ยาทาหรือแชมพูเชื้อราเพียงอย่างเดียวอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาไม่เพียงพอ

วิธีการป้องกันตัวจากเชื้อราแมว

1.หากแมวเป็นโรคผิวหนัง บนผื่นหรือรอยแดงที่ผิวหนัง ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมวที่เป็นโรคผิวหนังจนกว่าจะหาย
2.ไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์ที่เลี้ยงในระบบเปิดอย่างใกล้ชิดมากจนเกินไป เช่น นำสัตว์เลี้ยงมานอนด้วย ให้สัตว์เลี้ยงเลียหน้าหรือปาก
3.ดูแลความสะอาดของสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ เช่น เป่าขนให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ
4.หลังสัมผัสหรือใกล้ชิดสัตว์เลี้ยง ควรทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสสัตว์เลี้ยงทันทีทุกครั้ง
5.นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา
6.ทำความสะอาดสิ่งของภายในบ้านที่สัตว์เลี้ยงสัมผัส เช่น โซฟา โต๊ะ ผ้าห่ม เป็นประจำ

 

การรักษาเชื้อราแมวในแมว

วิธีการวินิจฉัยโรคเชื้อราที่ดีที่สุดคือ การพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อมองหาสาเหตุที่แท้จริงของการติดเชื้อราในเเมว ว่าติดมาจากเเมวด้วยกัน หรือ ติดจากสัตว์ exotic จำพวกหนูหรือกระต่ายที่อาจเลี่ยงในสิ่งเเวดล้อมเดียวกัน หรือเเม้กระทั่งเป็นเชื้อราที่ติดมาจากดิน  หากสามารถทราบได้เเล้ว คุณหมอจะเริ่มให้การรักษาโดยมีการรักษาทั้งเบบเฉพาะที่ (ยาทา สเปรย์ยา น้ำยาทำความสะอาด รวมไปถึงแชมพูฆ่าเชื้อรา) เเละการรักษาเเบบทางระบบหรือก็คือการรักษาโดยใช้ยากินนั่นเอง ซึ่งในการรักษาเชื้อรา เเต่ละกรณีสัตวแพทย์ให้การรักษาที่แตกต่างออกไป ตามเเต่ลักษณะของรอยโรคที่พบ

โดยมากสัตวแพทย์ อาจจะแนะนำให้น้องเเมวตัดขนให้สั้น เพื่อลดปริมาณขนที่ติดเชื้อและลดการปนเปื้อนของสปอร์ที่อยู่บนเส้นขนในสิ่งแวดล้อม ร่วมกับการใช้ยาทาเฉพาะที่ หรือสเปรย์ หรือ แชมพูอาบน้ำที่มีส่วนประกอบของตัวยา ketoconazole สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง โดยมีคำเเนะนำว่าในการใช้เเชมพูยา ควรให้มีระยะเวลาในการสัมผัสของเเชมพูกับตัวน้องแมว อย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา นอกจากนี้สัตวแพทย์อาจจ่ายยากินเพื่อรักษาอาการโรตผิวหนังจากเชื้อรา โดยนิยมให้ยา itraconazole เเบบกิน ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาน้ำ เเละยาแคปซูล ร่วมไปกับการรักษาเฉพาะที่ เช่นยาทา หรือยาอาบ ด้วยก็ได้ ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการให้ยา ระดับภูมิคุมกันของน้องเเมวเเต่ละตัว รวมไปถึงเพื่อนสัตว์เลี้ยงอื่นๆในสิ่งแวดล้อมหรือในบ้านเดียวกันด้วย  ในกรณีที่มีแมวป่วยในบ้านมากกว่า 1 ตัว อาจติดซ้ำกลับไปมา จึงอาจใช้ระยะเวลาในการรักษานานถึง 3-6 เดือนเลยทีเดียว
ให้ยากับน้องแมวกินตามที่สัตวแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
หากแมวมีอาการเบื่ออาหาร ซึม ควรหยุดยากินและพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
พาน้องแมวไปรับการตรวจร่างกายตามที่สัตวแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

 

 

เครดิตข้อมูล
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากากาดไทย
โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ