เมื่อแมวมีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก เจ้าของทั้งหลายอาจคิดว่าเป็นเพียงกินปกติของน้องแมว แต่อย่าได้เมินเฉย เพราะสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากปัญหาสุขภาพภายในที่ถ้าละเลยปล่อยนานวันเข้าปัญหาเหล่านั้นจะรุนแรงขึ้นจนอาจทำให้น้องแมวไม่ยอมกินอาหาร และป่วยหนักได้เช่นกัน ดังนั้นเราไปดูกันเลยดีกว่าว่าสาเหตุทั้งหลายมาจากปัจจัยใดบ้าง
สาเหตุที่มักทำให้แมวมีกลิ่นปากเหม็น
1.อาหาร
โดยกลิ่นนั้นอาจเกิดอาหารที่มีกลิ่นรุนแรงหรือเศษอาหารที่หมักหมมตามซอกฟัน ส่งผลให้แมวมีกลิ่นปากได้ และ แต่ปัจจัยนี้สามารถหายไปได้เมื่อมีการล้างช่องปาก และเปลี่ยนชนิดอาหาร
2. หินปูน
สาเหตุจากการที่มีการสะสมของคราบพล๊าค(Plaque) ที่ผิวฟัน ซึ่งประกอบด้วยเชื้อแบคทีเรีย เมื่อรวมตัวกับน้ำลาย และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากอาหารที่กินเข้าไป ก็จะก่อให้เกิดการสะสมเป็นหินปูน หรือหินน้ำลายเกาะอยู่ที่ผิวฟัน การสะสมจะเริ่มบริเวณโคนฟันที่ติดกับเหงือกทำให้แมวมีภาวะเหงือกอักเสบตามมา บางตัวพบว่ามีหินปูน ปริมาณมาก ในบางตัวอาจพบหินน้ำลายมีความแหลมคมจนบาดกระพุ้งแก้มเป็นแผลได้
3.ช่องปากอักเสบ
จากโรคไวรัส โรคไต โรคภูมิคุ้มกัน จากหินปูน จากโรคฟันกร่อน หรืออื่นๆ เมื่อมีการอักเสบชองช่องปาก จะทำให้มีการหลั่งของน้ำลายการสะสมของแบคทีเรียและคราบอาหารมากขึ้น นอกจากนี้หากรุนแรงมากอาจมีเลือด และเนื้อตายในช่องปากจากการอักเสบเรื้อรังได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นเหม็นรุนแรงได้
4.โรคทางเดินหายใจส่วนต้น
การติดเชื้อในโพรงจมูกและทางเดินหายใจส่วนต้นอาจส่งผลให้มีกลิ่นออกมาเวลาหายใจ และอ้าปากเนื่องจากช่องปากมีส่วนเชื่อมตอกับทางเดินหายใจ เช่นเดียวกันหากมีปัญหาติดเชื้อในช่องปากจะทำให้ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นได้
5.โรคตับ
เมื่อเกิดภาวะตับวาย การขับของเสียผิดปกติไป ของเสียในเลือดกลุ่มแอมโมเนียจะสูงขึ้นจนทำให้มีลมหายใจ และกลิ่นปากเหม็นได้
6.โรคไต
แมวที่ป่วยเป็นโรคไต เมื่อเกิดภาวะไตวายจะส่งผลให้ ของเสียในเลือดสูงจนมีกลิ่นออกมากจากปากและหากรุนแรงมากส่งผลให้ช่องปากและลิ้นเป็นแผลได้ และอาจมีอาเจียนและเกิดเป็นกลิ่นปากที่เหม็นได้เช่นกัน
7.โรคไวรัส ในแมว
มีไวรัสหลายชนิดที่มักส่งผลให้เกิดการอักเสบในช่องปาก เช่น Feline calcivirus (FCV) ,Feline viral rhinotracheitis (FVR), feline leukemia virus (FeLV) and feline immunodeficiency virus (FIV) ซึ่งการป้องกันอาจทำได้โดยการฉีดวัคซีน ป้องกัน และลดความรุนแรงของโรคและรักษาทางยาหากติดเชื่อไวรัส
8.เนื้องอกในช่องปาก
ปัจจุบันพบว่าแมวมีเนื้องอกในช่องปากมากขึ้นเนื้องอกมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความรุนแรงต่างกันอาจเกิดบริเวณ เหงือก ลิ้น เพดานปาก หรือกระพุ้งแก้มได้ เมื่อเนื้องอกในช่องปากเจริญเติบโตมักจะเกิดการอักเสบเลือดออก มีเนื้อตาย และก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นในปากได้
อาการที่มักพบเจอ
- หากเป็นแมวที่มีปัญหาช่องปากอักเสบ คราบหินปูน มักพบว่าจะมีอาการน้ำลายไหลมากกว่าปกติ หากเปิดปากเหงือก จะอักเสบแดงบริเวณโคนฟัน หากรุนแรงมากอาจพบเลือดปนมากับน้ำลาย เกรอะกรังรอบปาก มีความอยากทานอาหาร แต่ ทานอาหารน้อยลงเจ็บปากจึงไม่ทาน
- หากมีปัญหาเรื่องโรคไตวาย กลิ่นปากและกลิ่นลมหายใจจะมีกลิ่นรุนแรงคล้ายกลิ่นปัสสาวะ
- หากมีปัญหาเรื่องโรคตับ มักพบอาการตัวเหลือง ปลายหูเหลือง ในบางตัวอาจมีภาวะอาเจียนร่วมด้วยค่ะ
เราจะสามารถป้องกันได้อย่างไร
หากเป็นปัญหาส่วนช่องปากสามารถทำได้โดย เปิดดูช่องปาก โดยเจ้าของดูเองที่บ้าน เพื่อตรวจดูความผิดปกติ เนื่องจากหากพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเริ่มจะทำให้แก้ไขได้ง่ายและส่งผลเสียต่อน้องแมวน้อยกว่าพบเมื่อเกิดปัญหารุนแรงแล้ว เช่น เนื้องอก หากเจอขนาดเล็กอาจตัดตัวก้อนออก หากเจอขนาดใหญ่อาจต้องตัดกระดูกกรามออกเป็นต้น
การหัดแปรงฟัน เป็นการช่วยชะลอการเกิดคราบหินปูนและเหงือกอักเสบได้ ควรเริ่มตั้งแต่อายุน้อย อาศัยความใส่ใจค่อยๆฝึก ซึ่งแมวนั้นในบางตัวอาจหัดแปรงยาก แต่มีประโยช์มาก เพราะเป็นกิจกรรมที่จะทำให้เจ้าคุ้นเคยกับช่องปากแมว และของสามารถเห็นสิ่งผิดปกติในช่องปากได้เร็ว ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เพื่อการป้องกันคราบหินปูนมากมาย เช่น เจลทาฟัน การผสมน้ำดื่ม ทั้งนี้ควรตรวจสอบผลการวิจัยรับรองประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย นอกจากนี้การทานอาหารเม็ดก็เป็นการช่วยชะลอการเกิดคราบหินปูนและเหงือกอักเสบได้เช่นกัน
พบสัตวแพทย์เป็นประจำ โดยควรได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจช่องปาก เนื่องจากสัตวแพทย์เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการเปิดปากและสังเกตความผิดปกติต่าง นอกจากนี้การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉับโรค เช่น โรคไวรัส โรคตับ โรคไต เพื่อหากเริ่มมีอาการอ่อนๆ จะได้ทำการรักษาให้ทันท่วงทีการขูดหินปูนเมื่อมีการสะสมของหินปูนก็จะทำให้เป็นการป้องกันการเกิดช่องปากอักเสบและมะเร็งในช่องปากได้เช่นกัน ทั้งนี้บางครั้งการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดอาจต้องทำภายใต้การวางยาสลบ เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆเข้าไปในช่องปาก เช่น การเอ๊กเรย์ฟัน การใช่อุปกรณ์ตรวจผิวฟันที่แหลมคม
ขอขอบคุณ สพ.ญ. ปณิธิ สุโข และ สพ.ญ. เรวดี เติมวิริยะกุล สำหรับบทความที่ดีนี้
เครดิตข้อมูล; http://vet4polyclinic.com