โรคหัดแมว

ไวรัสไข้หัดแมว (FPV) หรือที่เรียกว่าโรคพาร์โวไวรัสแมว

โรคไข้หัดแมว เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพาร์โวไวรัสในแมว  มีผลต่อระบบทางเดินอาหารของแมว พบรายงานการพบโรคนี้มานานแล้ว ซึ่งสามารถพบในแมวทุกตระกูล ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต แมวป่า หรือแม้แต่แมวบ้านทุกพันธุ์นอกจากนี้ยังพบได้ในสัตว์ตระกูลอื่นๆ อีก เช่น สกั๊งค์ เฟอเร็ต มิ้งค์ แรคคูน ซึ่งโรคนี้ทำให้แมวมีอาการอาเจียนและท้องเสีย บางครั้งอาจมีอาการหวัดแทรกซ้อน จึงมีคนเรียกชื่อต่างๆ มากมาย เช่น “โรคไข้หัดแมว” (Cat distemper) และ “โรคลำไส้อักเสบในแมว” (Feline Parvovirus Enteritis) เป็นต้น


เครดิตภาพ 3 HD

ส่วนใหญ่พบในแมวอายุน้อยและก่อให้เกิดความรุนแรงค่อนข้างมาก ส่วนแมวโตนั้นก็สามารถพบได้เช่นกัน โดยอาการที่พบคือ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือดกลิ่นคาว ร่างกายขาดน้ำ บางครั้งอาจมีอาการเกร็ง ปวดช่องท้อง และพบลักษณะลำไส้หนาตัว ภายในมีแก๊สและของเหลว อาจมีผลต่อการทรงตัวของลูกแมวและทำให้ลูกแมวตาบอดได้ ในแมวที่หายจากโรคนี้ในระยะแรกยังสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสในอุจจาระได้หลายสัปดาห์ ส่วนในแมวที่ตั้งท้องอาจทำให้เกิดการแท้งลูกหรือลูกตายหลังคลอดได้

 

การติดต่อของโรค

สามารถติดได้จากการสัมผัสแมวป่วย หรือสัมผัสกับอุจจาระ สิ่งคัดหลั่งต่างๆ หรือภาชนะเครื่องใช้ของแมวป่วย หรือติดผ่านจากมนุษย์เป็นพาหะนำโรคผ่านเสื้อผ้า อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆที่สัมผัสกับแมวป่วย โรคไข้หัดแมวจะมีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน โดยแมวอายุน้อยมักตายอย่างรวดเร็ว อัตราการตายอยู่ระหว่าง 25-90% เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงโดยเฉพาะในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อตรวจเลือดมักจะพบเม็ดเลือดขาวต่ำมาก จึงมีชื่อเรียกโรคนี้ว่า “Feline Panleukopenia”

อาการไข้หัดแมว

👉โรคนี้มีระยะการฟักตัวของโรค 2-7 วัน
👉​มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน
👉​ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน
👉​ท้องเสีย ร่างกายขาดน้ำ ถ่ายเป็นเลือด
👉ร่างกายอ่อนเพลีย​ อ่อนเเรง

การรักษา

ควรพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเพราะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะแมวที่ไม่กินอาหาร มีอาเจียน ท้องเสีย จะทำให้ร่างกายอ่อนแรง ขาดน้ำ เสียสมดุลย์ของอิเล็คโตรไลท์ในร่างกาย สัตว์อาจอยู่ในสภาวะช็อกได้ แนวทางการรักษาโรค คือ การรักษาตามอาการและพยุงอาการเพื่อให้สัตว์สามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคได้ โดยการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือด (Fluid therapy) ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้อาจมีการให้ยาระงับการอาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง การรักษาจึงทำเพื่อประคับประคองและพยุงอาการเท่านั้น

การป้องกัน

ควรแยกแมวป่วยออกจากแมวปกติตัวอื่นทันที เพราะโรคนี้เป็นได้กับแมวทุกอายุ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคที่อาจแพร่ออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ผสมโซเดียมไฮโปคลอไรด์ เจ้าของแมวที่มีแมวตายด้วยโรคไข้หัดแมว การป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมวหลายยี่ห้อและยังเป็นวัคซีนรวมอีกด้วย คือ ใช้ป้องกันได้ทั้งโรคไข้หัดแมวและโรคไข้หวัดแมวไปพร้อมๆ กันซึ่งสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ทั่วไป ส่วนสัตว์ป่าตระกูลแมว และแมวทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเช่นกัน

 

เครดิตข้อมูล
โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
สพ.ญ. ปิยวรรณ ภู่ระหงษ์ (หมอก้อย) โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขารามอินทรา

เครดิตรูปภาพ
https://www.pets4homes.co.uk/
เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร