ไขข้อข้องใจเรื่องการบริจาคเลือดของสัตว์เลี้ยง
ไม่ใช่แค่ในคนเท่านั้นที่มีธนาคารเลือด หรือมีการบริจาคเลือด เพราะในสัตว์เลี้ยงก็มีหลายๆ กรณีที่สัตว์ป่วยจะต้องรับการถ่ายเลือดเช่นกัน เนื่องในโอกาสครบรอบ 84 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาๆ วันนี้คุณหมอจากหน่วยธนาคารเลือด โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อาสามาตอบ คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการบริจาคเลือดในสัตว์เลี้ยงที่มักจะมีเจ้าของน้องหมาน้องแมวถามกันบ่อยๆ ให้หายสงสัยกัน พร้อมแล้วเริ่ม!
Q : โรคแบบไหนที่ทำให้สัตว์เลี้ยงต้องได้รับการถ่ายเลือด
📌โรคมะเร็ง ต้องการเลือดทดแทนเพื่อการผ่าตัด หรือให้เคมีบำบัด
📌 เลือดจาง เนื่องจากอาการป่วยเรื้อรัง เช่น ไตวาย, ตับวาย
📌 อุบัติเหตุ เช่น รถชน ตกตึก เลือดออกในปอด หรือช่องท้อง ตับ-ม้ามแตก ปอดฉีก
📌 เลือดจาง เกล็ดเลือดต่ำ เนื่องจากติดเชื้อพยาธิในเม็ดเลือด
📌 ได้รับสารพิษ เช่น ยาเบื่อหนู
📌โดนงูเขียวหางไหม้กัด มีสภาวะการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ
Q : สุนัขและแมวมีกรุ๊ปเลือดเหมือนคนหรือไม่
🐶 สุนัขแบ่งกรุ๊ปเลือดตามแอนติเจน (antigen) บนผิวของเม็ดเลือดแดงออกเป็น DEA 1.1, 1.2, 3, 4, 5, 6, 7, 8
🐱 แมวแบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น A, B, AB
Q : คุณสมบัติของสุนัขที่สามารถบริจาคเลือดได้ มีอะไรบ้าง?
🐶 คุณสมบัติของสุนัขที่สามารถบริจาคเลือดได้ มีดังนี้
📌 อายุระหว่าง 1-8 ปี
📌 สุขภาพแข็งแรง มีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม
📌 ทำวัคซีนรวมประจำปีครบ มีการป้องกันเห็บหมัด พยาธิหนอนหัวใจ เป็นประจำทุก 1 เดือน
📌 ไม่เคยได้รับเลือดมาก่อน
📌 สุนัขเพศเมียควรทำหมันแล้ว
📌 ไม่เป็นโรคติดต่อทางระบบเลือด
📌 ไม่เคยเป็นโรคแท้งติดต่อ
Q : แล้วแมวล่ะ คุณสมบัติแมวที่สามารถบริจาคเลือดได้ต้องมีอะไรบ้าง?
🐱 คุณสมบัติของแมวที่สามารถบริจาคเลือดได้มีดังนี้
📌 อายุระหว่าง 1-8 ปี
📌 สุขภาพแข็งแรง มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม
📌 ทำวัคซีนรวมประจำปีครบ
📌 เป็นแมวเลี้ยงเฉพาะในบ้าน นิสัยไม่ดุร้าย
📌 มีการป้องกันและควบคุมหมัดอย่างต่อเนื่องทุกเดือน
📌 แมวเพศเมียควรทำหมันแล้ว
Q : ปริมาณเลือดที่สุนัขและแมวสามารถบริจาคได้ในแต่ละครั้ง คือเท่าใด?
สุนัขสามารถบริจาคเลือดได้ปริมาณ 10-20 มล./กก. ปกติในสุนัขพันธุ์กลางจะไม่เกิน 350 มล. ต่อตัว และ 450 มล. ต่อตัวในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น Great Dane, Saint Bernard
ส่วนแมวสามารถบริจาคเลือดได้ปริมาณ 10-12 มล./กก.
Q : ขั้นตอนในการบริจาคเลือดสุนัข มีอะไรบ้าง
📌 ตรวจเลือดเพื่อเช็คสุขภาพสัตว์ สัตวแพทย์จะตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด รวมทั้งตรวจการทำงานของตับไต และตรวจพยาธิในเม็ดเลือด
📌 เมื่อผลเลือดผ่านแล้ว สุนัขสามารถเก็บเลือดได้จากทั้งที่ขาหน้า หรือที่คอ ขึ้นอยู่กับขนาดของสุนัขและขนาดของเส้นเลือด
📌 ระหว่างที่สุนัขบริจาคเลือด สัตวแพทย์จะทำการให้น้ำเกลือ เพื่อทดแทนปริมาณน้ำเลือดที่สูญเสียไป และป้องกันไม่ให้สุนัขมีสภาวะขาดน้ำ
📌 หลังจากบริจาคเลือดเรียบร้อยแล้ว สุนัขจะนอนพักเป็นเวลาประมาณ 10-15 นาที
📌 สุนัขจะได้รับอาหารบำรุงสุขภาพ และยาบำรุงเลือดกลับไปป้อนต่อเนื่องที่บ้าน
Q : การวางยาซึมแก่สัตว์เลี้ยงเพื่อบริจาคเลือดมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน?
🐶 สำหรับสุนัขสัตวแพทย์มักจะวางยาเพื่อทำการสงบประสาทในสุนัขที่มีอาการตื่นเต้น หรือค่อนข้างดุจนไม่สามารถที่จะควบคุมได้ โดยยาที่ใช้ค่อนข้างมีความปลอดภัย และมียาแก้ฤทธิ์ของยาสงบประสาทเสมอ ฉะนั้นเพื่อสุนัขบริจาคเลือดเสร็จจะกลับมารับรู้เป็นปกติเกือบ 100%
🐱 ส่วนในแมว สัตวแพทย์มีความจำเป็นที่ต้องวางยาสงบประสาทในทุกกรณี แต่อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อตัวแมว
Q : การพาสัตว์เลี้ยงมาบริจาคเลือด ดีอย่างไร?
📌 สัตว์เลี้ยงจะได้รับการตรวจสุขภาพจากสัตวแพทย์อย่างละเอียด และไม่เสียค่าใช้จ่าย
📌 ร่างกายมีการหมุนเวียน เปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่เป็นประจำทุก 3 เดือน
📌 ได้ทำบุญเพื่อต่อลมหายใจให้แก่เพื่อนสัตว์ที่กำลังเจ็บป่วย
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก :
Small Animal Teaching Hospital CUVET : โรงพยาบาลสัตว์เล็กจุฬาฯ