เชื้อราในแมว
โรคผิวหนังที่มักจะพบกันบ่อยในแมว คือผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา (Dermatophytosis) ซึ่งเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคที่พบได้บ่อยๆ จะเป็นเชื้อราชนิด Microsporum canis บางครั้งจะพบ Trichophyton mentagrophyte หรืออาจเป็น Micrsporum gypsums ซึ่งพบได้จากสุนัขปกติ แต่หากผิวหนังบาดเจ็บหรือถูกทำลาย จะโน้มนำให้ติดเชื้อรากลุ่มนี้ง่าย
ปัจจัยโน้มนำที่ทำให้ติดเชื้อราในแมว
คือ สภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้น, สัตว์อายุน้อย, แมวขนยาว, ระบบภูมิคุ้มกันถูกกด (Feline leukemia virus หรือ Feline immunodeficiency virus) หรือการให้ยาต่างๆ เช่นกลุ่ม สเตียรอยด์ โดยเชื้อราจะพบได้จากสัตว์ที่เคยติดเชื้อ หรือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หวีแปรงขน หรือเบาะรองนอน
อาการที่พบเชื้อราในแมว
ในแมวที่ติดเชื้อราที่ผิวหนัง คือจะมีอาการคัน ขนร่วงเป็นวงๆ (ringworm) และผิวหนังเป็นสะเก็ดรังแค
ในการวินิจฉัยเชื้อราในแมว
สัตวแพทย์อาจจะถามประวัติการเลี้ยง เช่นแมวที่บ้านเคยเป็นหรือไม่ รวมถึงคนและสัตว์ในบ้าน มีความผิดปกติของผิวหนังหรือเปล่า เพราะเชื้อราจะสามารถติดต่อจากแมว ไปยังสัตว์เลี้ยงอื่นๆ รวมถึงผู้เลี้ยงได้ง่าย
วิธีวินิจฉัยอื่นๆ เช่น การนำขนหรือสะเก็ดผิวหนังบริเวณนั้น ไปเพาะเชื้อรา (Dermatophyte test medium) หรือการตรวจโดยใช้แสงสีม่วง (Wool’s lamp) หากให้ผลบวก จะเห็นเป็นสารเรืองแสงสีเขียว และอีกหนึ่งวิธีการตรวจ คือการขูดผิวหนัง มาส่องกล้องเพื่อดูสปอร์ของเชื้อรา
ในการรักษาแมวที่เป็นผิวหนังอักเสบจากเชื้อราในแมว
สัตวแพทย์มักจะแนะนำตัดขนให้สั้น เพื่อลดปริมาณขนที่ติดเชื้อและลดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม โดยยาจะมีทั้งยากินกลุ่ม ketoconazole หรือ itraconazole และรักษาร่วมกับการรักษาเฉพาะที่ คือการอาบน้ำยาสำหรับสุนัขหรือแมวที่เป็นเชื้อราโดยเฉพาะ ระยะเวลาในการรักษาแมวที่ติดเชื้อรา อาจจะนานถึง 3 เดือนเลยทีเดียว
ฟังแล้วน่ากลัวไม่ใช่น้อยเลยนะสำหรับเชื้อราในแมว เพราะฉะนั้นถ้าสงสัยว่าแมวที่เลี้ยงติดเชื้อรา รีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วนเลย เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว